บลจ.ไทยพาณิชย์ บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้า 1 ล้านราย

บลจ.ไทยพาณิชย์

บลจ.ไทยพาณิชย์ บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้า 1 ล้านราย

บลจ.ไทยพาณิชย์ บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้า 1 ล้านราย ภายใน 2 ปีต่อจากนี้ เน้นกลยุทธ์ทำธุรกิจแบบ ‘ยั่งยืน’ ต้องสร้างกำไรให้ลูกค้าได้ยาวๆ พร้อมชี้แจงประเด็น ‘หุ้นกู้เครดิตสวิส’ ตอนนี้เหลือสัดส่วนลงทุนแค่ 1.88%

‘ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM กล่าวถึงแผนธุรกิจว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายขยายฐานลูกค้าให้แตะ 1 ล้านรายภายใน 2 ปีต่อจากนี้ จากปัจจุบันที่ 600,000 ราย

โดยเป็นการเติบโตผ่านช่องทางการขายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) บริษัทประกัน ตัวแทนอิสระ ฯลฯ

ขณะที่เป้าหมายด้านเม็ดเงินลงทุน คาดว่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จะเติบโตราว 3-5% จาก ณ สิ้นปี 2565 ที่ 1.61 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 1.65-1.69 ล้านล้านบาท และมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าที่ประเมินเอาไว้ หากตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้กลับมาสดใส

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 19.58% สูงสุดในอุตสาหกรรม โดย AUM ส่วนใหญ่มาจากกองทุนรวม (Mutual Fund) 892,000 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) 535,000 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) 183,000 ล้านบาท

บลจ.ไทยพาณิชย์

ขณะที่เป้าหมายสำคัญของบริษัทฯ ทั้งในปีนี้ และในระยะยาว คือ การเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ ‘ยั่งยืน’ และสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว

ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ บลจ.ไทยพาณิชย์ทำได้ตามเป้าหมาย คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทยอยลงทุนในเทคโนโลยีไปกว่า 50 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน Machine Learning และการลงทุนใน Data

‘เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนกว่า 70 คน แต่ ‘เครื่อง’ หรือ Machine สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ทีละเยอะๆ เมื่อนำทั้ง 2 อย่างมารวมกัน จะช่วยให้เราสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ดีขึ้น ขยายการลงทุนได้กว้างขึ้น’

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์ทยอยลงทุนด้านเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท

เมื่อถามถึงกลยุทธ์ในการคงความเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจกองทุน ซีอีโอของ SCBAM บอกว่า ต้องทำ 3 อย่าง คือ

1. ผลิตภัณฑ์ (Product) ต้องครอบคลุมกับความต้องการของลูกค้า เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด ที่ลงทุนในบริษัทฯ ที่มีศักยภาพก่อนขาย IPO หรือกองทุน e-class ที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก ไม่เสียค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่ในตลาด

2. ตัวแทนขาย (Distributor) ต้องเป็นช่องทางที่สั้นและเร็วที่สุด นับตั้งแต่ลูกค้าตัดสินใจอยากที่จะลงทุน แม้ว่าวันนี้ช่องทางการขายผ่านธนาคารไทยพาณิชย์จะยังมีสัดส่วนสูงสุด (60-95% แล้วแต่ช่วง) แต่ก็มีบางช่องทางที่เติบโตได้ค่อนข้างดี เช่น ตัวแทนอิสระ ซึ่งเติบโต 6 เท่า (600%) ในช่วงที่ผ่านมา

3. การดูแลนักลงทุน ทำอย่างไรให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่มั่นคง สม่ำเสมอ สามารถส่งต่อความมั่งคั่งให้ลูกหลานได้

ในวันเดียวกัน SCBAM ชี้แจงประเด็นกองทุนไทยที่ถือหุ้นกู้ Credit Suisse โดยระบุว่า ข้อมูลที่มีรายงานออกมา เป็นข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ มีการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกู้ของ Credit Suisse มาอย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ปัญหาสภาพคล่องของธนาคาร Credit Suisse ซึ่งรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ได้เข้าควบคุมเพื่อจำกัดความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงิน โดยล่าสุดธนาคาร UBS ได้ตกลงซื้อกิจการของ Credit Suisse Group เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการพิเศษของรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ ส่งผลให้หุ้นกู้ที่เป็นกองทุนชั้นหนึ่ง (Additional Tier1: AT1) ของธนาคาร Credit Suisse ถูก Write-Down ทั้งจำนวน และสูญเสียมูลค่าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เฉพาะตัว (Idiosyncratic Risk) จาก Credit Suisse เท่านั้น และได้รับการควบคุมดูแลจากรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์แล้ว

คาดว่าสถานการณ์ไม่น่าลุกลามไปยังธนาคารยุโรปอื่นในวงกว้าง ด้วยสถานะทางการเงินโดยรวมของกลุ่มธนาคารในยุโรปยังคงแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio) ในระดับสูง

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีสัดส่วนการลงทุนทางอ้อมใน AT1 ของ Credit Suisse ผ่านการลงทุนของกองทุนหลักในสัดส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับภาพรวมของการลงทุนทั้งหมด โดยปัจจุบันกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เครดิตออพพอทูนิตี้ (SCBOPP) มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุด 1.88%

ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนหลักมองว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลต่อการลงทุนอื่นในพอร์ตการลงทุนที่เน้นลงทุนในตราสารที่ผู้ออกมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับลงทุนได้เป็นหลัก